Genuine Fake ของปลอมขนานแท้

ได้ยินหัวข้อของบทความนี้แล้ว หลายคนอาจจะเกิดอาการงงเล็กน้อยถึงปานกลางว่า Genuine Fake นี่มันเป็น irony หรือเปล่า ของปลอมขนานแท้ นี่มันแปลว่าอะไร?

มาเข้าเรื่องของเรากันเลยดีกว่า ฉันเชื่อว่ามีหลายต่อหลายคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้สารคดีเกี่ยวกับงานศิลปะอย่างที่ฉันเป็นอยู่ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าเมื่อใดก็ตามที่ได้มีโอกาสเปิดทีวีดู ฉันจะหมุนไปที่ช่อง True Explore 2 ก่อนใครเพื่อน เพราะช่องนี้มีสารคดีงานศิลปะให้ดูอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้เบื่อ (บางคนที่ไม่ชอบศิลปะ อาจจะเบื่อ) บางรายการฉันดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า ละเลียดดูรายละเอียดของงานศิลป์ที่นำมาแสดง แถมบทวิเคราะห์เจาะลึกน่าสนใจ

ล่าสุด ฉันก็ไปสะดุดตากับรายการ Mastering the Art ของคุณจอห์น ไมแอท (John Myatt) เข้า รายการนำเสนอการวาดภาพเลียนแบบงานศิลปะชั้นยอดจากศิลปินชั้นเยี่ยมของโลก ไม่ว่าจะเป็น Monet, Van Gogh, Picasso ฯลฯ โดยศิลปินสมัครเล่นผู้ร่วมรายการ 3 คน จะได้โจทย์จากคุณจอห์นในการวาดภาพในแต่ละสัปดาห์

ตอนที่ฉันดูนั้นเป็นการวาดภาพในสไตล์ของ van Gogh โดยศิลปิน 3 คนได้รับโจทย์ให้วาดภาพ self portrait ของตัวเอง ในแบบของ van Gogh โดยคุณจอห์นพยายามให้ทุกคนเข้าถึงความเป็นแวนโก๊ะ ศิลปินอัจฉริยะผู้อาภัพ ฝีแปรงที่ดูหนาหนักของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และความเป็นตัวตนของตัวเอง อุปกรณ์เสริมที่ศิลปินสมัครเล่นของเรา 3 คนได้รับคือกระจกเงา เรียกว่ามองหน้าตัวเองในกระจกไป วาดไป ทุกคนต่างดูจะไม่ค่อยมั่นใจในผลงานสักเท่าไหร่ พ่อหนุ่มวิศวกรก็ออกจะยึดติดกับวิธีการวาดภาพเหมือนแบบเดิมอยู่ จะมีก็คุณป้านักวาดที่กล้าใช้สีสดอย่างสีส้มและเหลืองในรูป portrait ของตัวเอง สุดท้ายผลงานที่ออกมาก็ให้อารมย์แบบแวนโก๊ะอยู่บ้าง แต่ทั้งสามคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกสนุกที่ได้ลองวาดภาพในแบบที่แตกต่างออกไป ได้ฉีกกฏของตัวเอง แล้วสวมวิญญานของแวนโก๊ะดูสักครั้ง

พูดถึงรายการกันไปแล้ว เราวกกลับมาทำความรู้จักกับคุณจอห์น ไมแอท ศิลปินผู้สร้างงานปลอมๆ ขนานแท้กันสักหน่อย

คุณจอห์นแกได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมใน “the biggest art fraud of the 20th century” พี่ตำรวจสก็อตแลนยาร์ตถึงกับขนานนามการกระทำทุจริตหลอกลวงของคุณจอห์นว่าเป็นการฉ้อโกงเกี่ยวกับงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20!

คุณจอห์นแกเริ่มอาชีพจากการร่วมเขียนเนื้อเพลงฮิตติดชาร์ต เมื่อปี 1979 อย่าง Silly Games ของ Janet Key ดังได้สักพัก แกก็ย้ายกลับไปอยู่ที่ Staffordshire เคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้ถูกภรรยาทิ้งไป เหลือไว้แต่ลูก 2 คนกับหนี้สินสารพัน คุณจอห์นในขณะนั้นเป็นครูสอนศิลปะจนๆ คนหนึ่งที่มีภาระมากมาย และแล้วแกก็ค้นพบตัวเองและทางออกให้แก่ชีวิตขัดสน

ด้วยความสามารถในการวาดภาพล้อเลียนและลอกแบบ ในปี 1983 จอห์นเริ่มลงประกาศในนิตยสาร Private Eye เสนอขายภาพ ‘Genuine Fakes for £150 and £200’ หรือของปลอมแท้ๆ จ้า ในราคา 150 – 200 ปอนด์ ไม่ช้าไม่นานผลงานก็เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไป จนไปเข้าตานาย Drewe ผู้ชักจูงเข้าสู่วังวนอาชญากรรม!

เริ่มต้นด้วยงานของ Albert Gleizes ศิลปินแบบ cubist ชาวฝรั่งเศส ซึ่งนาย Drewe นำไปขาย

ปัญหาก็คือเขานำไปขายในลักษณะว่าเป็นผลงานออริจินัล เรียกว่าหลอกลวงสถาบันการประมูลชั้นนำอย่าง Christie’s และพิพิทธภัณฑ์ศิลปะชั้นยอดอย่าง Tate Gallery!

หลังจากร่วมหัวลงแรงกันทำของปลอมออกมาขายนับร้อยชิ้น ได้เงินได้ทองไปมากโข (คุณจอห์นอ้างว่าส่วนแบ่งที่เขาได้รับจากนายดรูว์ ไม่ได้มากอย่างที่หลายคนคิด เรียกว่าแค่มีพอกินอยู่ (อย่างสบายๆ) ไปวันๆ เท่านั้น

ความลับไม่มีในโลกฉันท์ใด การโกหกหลอกลวงก็มีวันเปิดเผยออกมาฉันท์นั้น แม้ว่าคุณจอห์นแกจะวางมือจากการวาดภาพปลอมออกมาขายตั้งแต่ปีค.ศ. 1993 แต่จนแล้วจนรอดแกก็ถูกจับจนได้ในปีค.ศ. 1995 ในฐานความผิดที่เคยก่อเอาไว้ ระหว่างการสืบสวนสอบสวนที่ยาวนานถึง 4 ปี คุณจอห์นกลับใจก็ให้ความร่วมมือกับตำรวจ Scotland Yard เป็นอย่างดี จนผลพิพากษาออกมาให้เขารับความผิดจำคุก 12 เดือน แต่ด้วยความประพฤติดีของเขาทำให้ได้รับการลดโทษลง และได้ออกมาสู่โลกภายนอกอีกครั้งหลังไปนอนเล่นในคุก Brixton อยู่ 4 เดือน

หลังจากออกจากคุก เขาสาบานว่าจะเลิกวาดรูปตลอดไป ก็ได้นักสืบ Searle ผู้ซึ่งสืบสวนคดีและนำไปสู่การจับกุมตัวเขานี่แหละ เป็นผู้ชักนำเข้าสู่วงการอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขากลับมาอย่างถูกกฎหมายค่ะ จอห์นเริ่มจากการขายภาพวาดให้กับนักสืบ Searle เป็นงานแรก และนี่ก็เป็นจุดเรื่มต้นอีกครั้งสำหรับนักวาดภาพเลียนแบบขนานแท้

ในการทำงานของเขา การเลือกใช้อุปกรณ์ในการวาดภาพก็สร้างสรรไม่แพ้ตัวผลงานเลยทีเดียว สิ่งนำมาใช้ในการวาดภาพรวมไปถึงสีทาบ้านและเอ่อ…เจลหล่อลื่น KY Jelly (นำมาใช้อย่างไร คงต้องไปสอบถามกันเอาเอง)

สิ่งหนึ่งที่จอห์นพูดไว้อย่างน่าฟังเกี่ยวกับการทำผลงานเลียนแบบงานศิลปะชั้นยอดคือ เขาไม่ได้สักแต่วาดเลียนแบบ แต่เขาพยายามเข้าถึงจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดของศิลปินเหล่านั้นด้วย ไม่ต่างไปจากนักแสดงที่ต้องเข้าถึงบทบาทของตัวละคร

ทุกวันนี้ คุณจอห์นแกก็อยู่อย่างสุขสบาย มีเงินใช้ มีงานวาดภาพปลอม (ที่มีการฝัง microchip เอาไว้ เพื่อแสดงให้รู้ว่านี่น่ะ ของปลอมนะจ๊ะ อย่าไปสับสนกับผลงานออริจินัล) เข้ามาไม่ขาดสาย ได้เป็นผู้จัดรายการ Mastering the Art แถมยังมีผู้กำกับสนใจจะนำชีวิตนักปลอมแปลงภาพวาดของแกไปทำเป็นภาพยนตร์อีกแน่ะ อย่างนี้มีแต่เรื่องรับทรัพย์

สุดท้ายนี้ ความปรารถนาอย่างหนึ่งของคุณจอห์นก็คือการได้สร้างผลงานในรูปแบบของตัวเอง และเป็นที่ยอมรับ ว่าแต่ผลจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป