อีกครั้ง ณ อังกฤษ – มุ่งสู่ชนบท

เช้าวันฟ้าหม่น

หลังจากเกริ่นโน่นกล่าวนี่มาหลายเพลา ก็ได้เวลาออกเดินทางกันเสียทีค่ะ

สายการบินแห่งชาติพาเรามาถึงท่าอากาศยาน Heathrow ในเช้าวันฟ้าหม่นและฝนพรำ เข้าตำราอากาศแบบอังกฤษขนานแท้ ว่ากันว่าใครมาอังกฤษแล้วไม่เจอฝน เหมือนกับมาไม่ถึงที่นี่จริงๆ!

เมื่อยังอยู่ในอาคารสนามบิน เราก็ไม่รับรู้ถึงอากาศหนาวจับจิต ที่แม้จะเป็นปลายฤดูหนาวเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่ลมหนาวก็ยังคงอ้อยอิ่งอยู่…

มาคราวนี้ ด่านตรวจคนเข้าเมือง มีคนรอคิวไม่เยอะเท่าทริปก่อนหน้า 2 ครั้งที่ผ่านมา (ฉันยกตำแหน่งสุดยอดแถว Immigration ยาว ให้สนามบินนี้ โปรดนึกภาพผู้โดยสารหน้าตาสลึมสลือเข้าแถวรอตรวจพาสปอร์ต ราว 1 ชั่วโมงขึ้นไป…)

แถวที่สั้นเกินคาดกลับทำให้บรรดาผู้ร่วมทางในคณะหันมาค้อนขวับว่าทำไมฉันดันไปนัดรับรถเช่าตั้ง 10 โมงเช้า (ณ เวลานั้น เพิ่ง 7 โมงกว่าๆ เท่านั้น)

พูดถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว นึกถึงเกมวัดดวง ถ้าใครโชคดีเจอเจ้าหน้าที่น่ารักก็สบายตัวไป เจ้าหน้าที่นี่ช่างถามค่ะ (เข้าใจว่าตามหน้าที่) เพราะฉะนั้นเตรียมตอบคำถามเค้าสักนิด ส่วนใหญ่ก็จะถามว่ามาทำอะไร อยู่กี่วัน ยังไงถ้าไม่ถนัดภาษาอังกฤษ ก็ลองซ้อมๆ ไปก่อนก็ได้ อ่อ ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองของเค้าจะมีการให้สแกนนิ้วด้วย

ผ่านด่าน 1 มาแล้ว ก็จะเจอกับด่านอรหันต์ลำดับ 2 สำหรับคนไทย ซึ่งก็คือ custom ค่ะ ที่ว่าเป็นด่านอรหันต์สำหรับคนไทยก็เพราะคนไทยหลายคนเป็นโรคติดอาหารไทยเวลาเดินทางไปต่างประเทศประเภทที่ว่าเวลาอยู่เมืองไทย อยากกินอาหารฝรั่งเศส อิตาเลียน เยอรมัน ญี่ปุ่น ฯลฯ สารพัดสารพัน แต่ครั้นไปเมืองนอกปุ๊บ ต้องนึกอยากกินอาหารไทยขึ้นมาปั๊บ

แต่ก่อนที่ประเทศอังกฤษจะไม่เคร่งครัดกับเรื่องนำเข้าอาหารการกินกันสักเท่าไหร่ จำได้ว่าสมัยเรียนก็พกสารพัดเครื่องปรุง ข้าวสาร อาหารแห้งไปเต็มเครื่อง แต่มาตอนนี้เค้าตรวจตราเข้มข้น ได้ยินว่าคนไทย นักเรียนไทย โดนยึดกุนเชียงเป็นของกลางกันมานักต่อนักแล้ว

เอาหล่ะ เมื่อผ่านทั้ง 2 ด่านมาได้รอดปลอดภัย ก็ได้เวลาแยกย้ายหาวิธีเดินทางเข้าเมืองกรุง ซึ่งที่ลอนดอนนี้มีให้เลือกตามความพอใจและเงินในกระเป๋า ประหยัดที่สุดเห็นจะเป็นการเดินทางเข้าเมืองด้วยรถไฟใต้ดินสาย Paddington (สีน้ำเงิน) ซึ่งขอเตือนว่าไม่เหมาะสำหรับคนสัมภาระเยอะค่ะ ยิ่งถ้ามีลูกเด็กเล็กแดงเดินทางด้วยแล้วล่ะก็ ขอให้ตัดออพชั่นนี้ออกไป เพราะต้องไปเบียดเสียดยัดเยียดกับชาวลอนดอนเนอร์เค้า แถมบางสถานีในเมืองไม่มีลิฟท์ ถ้าต้องแบกกระเป๋าเดินทางใบยักษ์ขึ้นบันไดสถานี คงไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ๆ

ดังนั้นถ้าใครอยากไปถึงไว ที่นั่งสะดวกสบาย ไฮโซ ก็ขอแนะนำให้ใช้บริการรถไฟด่วน Heathrow Express ที่วิ่งปรู๊ด 15 นาทีถึงสถานี Paddington

แต่เราไม่ไปค่ะ! เพราะจุดหมายแรกของเราในครั้งนี้คือชนบทอังกฤษ!

ว่าแล้วคุณน้องสาวก็จัดแจงนำใบจองรถของบริษัท Entreprise ที่เธอใช้บริการอยู่เป็นประจำ ไปติดต่อรับรถแบบ 7 ที่นั่งสำหรับขนผู้ร่วมทางทั้ง 7 ชีวิต พร้อมสัมภาระที่เยอะราวกับจะมาอยู่กันซัก10 เดือน

ปรากฏว่าเรื่องเช่ารถไม่ง่ายอย่างที่คิดเมื่อเจ้าหน้าที่เค้าบอกว่า ถ้าจะเช่ารถ 7 ที่นั่ง คนขับต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไปเท่านั้นนะจ๊ะหนู เอาล่ะสิ ทั้ง 7 คนนี้ มีคนทำใบขับขี่นานาชาติมาแค่ 2 คน แถมทั้ง 2 คนก็อายุไม่ถึง 30 ซะด้วย ทำเอาอึ้งและเคือง ก็ตอนจองผ่าน web ทางโน้นก็ไม่ได้แจ้งอะไรเลย ทั้งที่มีการให้ใส่วันเดือนปีเกิด! พี่สาวเห็นท่าทางเริ่มเหวี่ยงของเราก็ขอโทษขอโพยพอเป็นพิธี แล้วบอกให้เราลองไปติดต่อเจ้าอื่นแทน สุดยอดเซอร์วิส

เราต่างเดินหน้าเหี่ยว คอตก ไปที่เคาน์เตอร์ AVIS ซึ่งมีโทรศัพท์บ้านวางอยู่เครื่องหนึ่ง หลังจากลองโทรอยู่หลายครั้งก็ไม่มีคนรับสาย ในที่สุด เราจึงตัดสินใจขยับไปที่เคาน์เตอร์ Europcar ที่มีคุณลุงเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ หวังจะได้รถเช่าซะที เพราะไม่งั้นทั้งห้องพักและแผนเที่ยวของเราต้องมีอันพับลงกระเป๋าเป็นแน่…

และแล้วสวรรค์ก็โปรด เมื่อลุงแกบอกว่าเช่าได้นะจ๊ะหนู แต่ขอลุงเช็คแป๊บนึงว่ามีรถว่างไหม ว่าแต่ใครขับล่ะนี่ ถ้าเป็นคุณพี่ที่อายุมากหน่อย ราคาค่าเช่า (พร้อมประกัน) ก็จะถูกลงอยู่นา

หลังจากคิดสาระตะเรื่องค่าเช่ารถอยู่พักหนึ่ง เราก็ตัดสินใจเปลี่ยนคนขับเป็นคุณน้องชายที่ไร้ประสบการณ์การขับรถที่ประเทศอังกฤษ แต่ทำใบขับขี่นานาชาติมาเผื่อ หลังการเจรจาเสร็จสิ้น ก็มีรถshuttle bus มารับเราไปยังที่ปล่อยรถ ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีพื้นที่ของตัวเอง ลานกว้างใกล้ๆ สนามบินมีสารพัดรถเช่า หลากสีหลายขนาดจอดรอเรียบร้อย

คณะเรามัวแต่วุ่นวายกับการหารถ จนเมื่อได้เรื่องเรียบร้อย จึงรับรู้ถึงลมหนาวที่พัดโปรยมาพร้อมสายฝนที่ช่วยโหมกระพือความหนาวกันเข้าไปอีก เข้าไปอีก…

กว่าจะจัด และยัดสัมภาระเข้ารถไปได้เล่นเอาคณะเหงื่อตก เพราะสัมภาระเรานั้นมีมากเหลือ (ขนาดบอกทุกคนล่วงหน้าแล้วว่าให้ยึดหลัก “travel light” แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจฉันเลย – -“)

ขึ้นรถปุ๊บ เปิด Sat Nav (Satellite Nativation) ที่เช่าเป็นฟังก์ชั่นเสริมมาให้ช่วยนำทาง แล้วคณะทัวร์ของเราก็ได้ออกเดินทางจากสนามบินกันเสียที เย้!

ด้านหน้าวัง

จุดหมายแรกของเราในวันนี้คือ Blenheim Palace ณ หมู่บ้าน Woodstock ไม่ไกลจากเมืองมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Oxford การเดินทางโดยรถยนต์ค่อนข้างสะดวกค่ะ นอกจากจะไปเที่ยวชมพระราชวังแล้ว เรายังจะพักค้างคืนกันที่นี่ในคืนนี้ด้วย

กองทัพต้องเดินด้วยท้องฉันใด คณะทัวร์ตัว(อ้วน)กลมเราก็ต้องเติมพลังด้วยอาหารกลางวันฉันนั้น ว่าแล้วเราจึงแวะจอดรถและเดินทางร้านอาหารในเมืองกัน จนมาสะดุดกับร้านอาหารที่ชื่อ The King’s Head ที่นี่ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดีใน Tripadvisor

ร้านอาหารสไตล์ผับอังกฤษแห่งนี้เสิร์ฟอาหารยุโรปทั่วไป และอาหารสไตล์ผับอังกฤษที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น Fish & Chips หรือ Jacket Potato ส่วนบรรยากาศในร้านก็สบายๆ แถมเตาผิงแบบ open fire ก็ช่วยเติมความอบอุ่นให้อย่างดีทีเดียว อาหารที่นี่รสดีสมกับคำชมใน Tripadvisor ค่ะ ผ่าน!

อิ่มกันแล้วก็ได้เวลาเที่ยวพระราชวังค่ะ ฉันเคยได้ยินชื่อ Blenheim มาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีโอกาสมาเยือนซะที ทั้งนี้เพราะการเดินทางที่สะดวกที่สุดในการมา Blenheim คือทางรถยนต์

พระราชวังโอ่อ่าแห่งนี้เป็นบ้านของท่านดยุคและดัชเชสมาหลายเจเนอเรชั่น จนปัจจุบันตกทอดมาถึงดยุคคนที่ 11 แต่เจ้าของเหล่านี้คงจะมีชื่อเสียงโด่งดังเทียบไม่ได้กับบุรุษผู้หนึ่งซึ่งก็มีความเกี่ยวข้องผูกพันธ์กับสถานที่แห่งนี้ และท่านผู้นั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากท่านเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) อดีตนายกฯ คนสำคัญของอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ท่านเชอร์ชิลเกิดที่พระราชวัง Blenheim เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1874 โดย Lady Randolph Churchill ผู้เป็นแม่บังเอิญคลอดก่อนกำหนด ขณะที่เดินทางมาเยือนวังแห่งนี้ นอกจากจะเกิดที่นี่แล้ว ท่านเชอร์ชิลยังความผูกพันธ์กับวังสไตล์อิงลิชบาโร้คแห่งนี้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ท่านเลือกขอภรรยาแต่งงานที่สวนของพระราชวังแห่งนี้ ดังนั้นใครที่ไปเที่ยวชมBlenheim ก็จะได้พบกับภาพถ่าย ของสะสม ภาพเขียนฝีมือท่านเชอร์ชิล (งานเขียนภาพ เป็นอีกมุมหนึ่งของท่านเชอร์ชิลที่ฉันเพิ่งจะรู้ ปล. ภาพวาดหลายๆ ภาพยังมีการนำไปพิมพ์ออกจำหน่ายร่วมกับบริษัทการ์ดชื่อดังอย่าง Hallmark ซะด้วย) รวมทั้งห้องที่ท่านเกิด และสิ่งละอันพันละน้อยที่ดูได้ไม่รู้เบื่อกันเลยทีเดียว

ทางเข้าวังอาจจะดูแห้งแล้ง แข็ง เวิ้งว้าง และเคร่งขรึมไปบ้าง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นความประสงค์ที่จะให้สถานที่แห่งนี้ดูยิ่งใหญ่อลังการณ์ ประหนึ่งอนุสาวรีย์แห่งชาติ แสดงความรุ่งเรืองของทั้งอังกฤษ และ John Churchill ดยุคแห่ง Marlborough คนแรกที่รบชนะฝรั่งเศสและบาวาเรียนในสมรภูมิ Blenheim แต่เมื่อเข้าไปภายในแล้วจะรับรู้ได้ถึงความโอ่อ่า และรายละเอียดในการตกแต่งแบบอิงลิชบาโร้กที่อ่อนช้อย หรูหรา และสวยงาม ตามแบบฉบับของ Sir John Vanbrugh นักการละครชื่อดัง อีกปราสาทชื่อดังที่มีผู้ออกแบบเป็นนักออกแบบฉากละคร คือ Neuschwanstein ในประเทศเยอรมนี (นึกภาพปราสาทเจ้าหญิงนิทรา แล้วคุณจะร้องอ๋อ)

แน่นอนว่าการให้นักการละครคนเก่ง แต่ด้อยความชำนาญทางด้านสถาปัตยกรรมมาออกแบบ ทำให้ Sarah ดัชเชสองค์ที่ 1 นายหญิงของบ้าน ผู้ชื่นชอบในผลงานของเซอร์คริสโตเฟอร์ เร็น (ผู้ออกแบบมหาวิหาร St Paul ในลอนดอน) ไม่พอใจนัก

ยิ่งไปกว่านั้น ในภายหลัง Sarah ยังเกิดมีเรื่องผิดใจกับควีนแอน (Queen Anne) เพื่อนรัก ผู้มอบ Blenheim Palace ให้เป็นของขวัญแก่ครอบครัวท่านดยุค จนในที่สุด วังแห่งนี้ก็ถูกตัดงบ และท่านดยุคก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าก่อสร้างต่อด้วยตนเอง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มทวีขึ้นอย่างมหาศาล ผนวกความไม่ถูกชะตาส่วนตัวทำให้ Sarah เลิกจ้างเซอร์จอห์น และให้ Nicholas Hawksmoor ซึ่งทำงานร่วมกับเซอร์จอห์นมาก่อนหน้านี้ เป็นผู้ก่อสร้างต่อ

แน่นอนว่าเมื่อขาดเงินสนับสนุนจากทางการในการก่อสร้าง ท่านดัชเชสก็จำต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่างออก รวมทั้งเปลี่ยนการจ้างช่างระดับมาสเตอร์อย่าง Grinling Gibbons มาเป็นช่างฝีมือที่ด้อยกว่าแต่สามารถเลียนแบบผลงานของช่างฝีมือชื่อดังได้ เรียกว่าเซฟเงินในกระเป๋า แต่ภาพรวมก็ยังดูหรูหราอลังการณ์อยู่นั่นเอง

สังเกตุว่าถ้าคิดถึง Blenheim ในมุมมองที่เป็นบ้านที่ใช้อยู่อาศัยจริง หลายๆ ห้องที่นี่ดูไม่ค่อยน่าจะอยู่สบายสักเท่าไหร่ แต่ในสมัยนั้นบ้านหรือวังแห่งนี้มีความสำคัญในแง่การโชว์ความมั่งคั่งเสียยิ่งกว่าการใช้งานเพื่อการพักอาศัยจริงๆ

หลายห้องที่เราเข้าชมชวนให้นึกถึงพระราชวังแวร์ซายที่ฝรั่งเศส (ซึ่งตกแต่งแบบ Baroque เช่นเดียวกัน เพียงแต่ Blenheim เป็น English Baroque) บนผนังมีภาพเขียนบุคคลสำคัญต่างๆ ภาพวาดเทพปกรณัมในห้องเสวยที่สุดแสนอลังการณ์ รวมไปถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างไม้แกะสลักที่อ่อนช้อยราวกับมีชีวิต วอลเปเปอร์ผ้าไหมสีแดงสด หลายห้องจัดเรียงให้เหมือนสภาพการใช้งานจริงในสมัยก่อน ส่วนห้องที่มีการปรับเปลี่ยน ก็จะมีภาพห้องดั้งเดิมให้ชมประกอบด้วย หากใครมีข้อสงสัย เจ้าหน้าที่ประจำห้อง (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคุณลุง คุณป้าหน้าตาใจดี) ก็จะคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับนิทรรศการที่จัดแสดง รวมไปถึงเกร็ดเล็กๆ น้อยเกี่ยวกับที่นี่

ช่วงที่เราไปเยือน ที่วังมีจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ Gladys Deacon ดัชเชสคนที่ 9 สาวสังคมทรงเสน่ห์ชาวอเมริกันที่พิชิตใจท่านดยุคมาครอบครอง ในฐานะภรรยาคนที่สอง เขี่ยดัชเชสคนแรกตกอันดับไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแต่งงานของท่านดยุคกับ Consuelo Vanderbilt ภรรยาคนแรก สาวสวยลูกมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ก็ไม่ได้เกิดจากความรัก เพราะท่านดยุคเองก็ต้องการเงินจากการแต่งงานเพื่อรักษาตระกูลไว้ไม่ให้ล้มละลาย ส่วนพ่อของ Consuelo เองก็อยากให้ลูกสาวได้เป็นดัชเชส การแต่งงานที่น่าเศร้าจึงจบลงในที่สุด

Gladys Deacon

กลับมาพูดถึง Gladys Deacon บ้าง สาวเก๋ชาวอเมริกันผู้นี้มีรสนิยมโดดเด่นไม่เหมือนใคร จนบางครั้งก็อาจจะเรียกได้ว่าดูเพี้ยนๆ ไปบ้าง ใครที่ไปเยือน Blenheim ก็จะได้พบกับภาพวาดดวงตาสีฟ้าสวยของ Gladys ที่ฝากไว้บนเพดานซุ้มประตู รวมทั้งรูปหล่อสฟิงค์ใน Formal Garden ที่มีหัวเป็น Gladys

แต่อนิจจาความรักไม่เที่ยงแท้ แม้ท่านดยุคจะหลงใหลในตัว Gladys จนลืมไปว่าตัวเองเคยพูดไว้ว่าไม่ชอบสาวอเมริกัน! แต่ชะตาอันพลิกผันของเธอก็นำไปสู่การหย่าร้างและชีวิตบั้นปลายที่โดดเดี่ยว…

ถ้าชมส่วนจัดแสดงห้องต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และยังมีเวลาเหลือแนะนำให้แวะทำความรู้จักกับท่าน Duke of Marlborough ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในส่วนของ Untold Story ที่ให้เราได้เดินทางย้อนยุคไปกับวิญญาณของ Grace Ridley สาวใช้คนโปรดของ Sarah ดัชเชสคนที่ 1 เกรซคอยบอกเล่าเรื่องราวของท่านดยุคในแต่ละยุคแต่ละสมัย ผ่านภาพกราฟิคและหุ่นขี้ผึ้ง เรียกว่าได้เพิ่มอรรถรสในการเรียนรู้เกร็ดประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

นอกจากภายในตัวอาคารแล้ว สวนของ Blenheim ยังเป็นส่วนที่น่าไปเดินเล่นเก็บบรรยากาศเป็นอย่างยิ่ง สำหรับใครที่มีเวลาน้อย อาจเที่ยวเล่นในสวนอิตาเลียน ชมทะเลสาบ เนินเขา น้ำตกจำลอง และทิวทัศน์ที่ดูเป็นธรรมชาติและสงบเงียบราวกับเป็นป่าจริงๆ ทั้งที่เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ ‘Capability’ Brown นักจัดสวนชื่อดัง

ที่นี่ยังมีสวน Pleasure Garden สำหรับครอบครัว ที่มีเขาวงกต สวนผีเสื้อ ให้เด็กๆ ได้สนุกกัน ออกแนว theme park นั่นเลย เรียกว่าครบวงจรจริงๆ ส่วนในวันอากาศดี ที่นี่ยังมีจัดตระกร้าปิคนิคให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อหาไปนั่งปิคนิคกันในสวนสวยได้ด้วย แต่สำหรับวันอากาศหนาว (แม้จะมีแดดออกมาบ้าง) อย่างวันนี้ จิบชาร้อนๆ สักถ้วยในร้านคาเฟ่ของวัง ดูจะเป็นออพชั่นที่ดีกว่า

จากวัง Blenheim เราก็ไปเช็คอินกันที่ที่พักเล็กๆ ในเมือง ชื่อว่า Woodstock’s Own ที่พักขนาดย่อมแห่งนี้ ต้องไต่บันไดสูงชันแบบบ้านอังกฤษขึ้นไป ห้องพักขนาดมินิ ดูสะอาดสะอ้านดี เสียแต่กลิ่นสี (ที่เข้าใจว่าเค้าเพิ่งทาสีใหม่) แรงเหลือเกิน เก็บของเสร็จสรรพ เราก็ออกรถไปช้อปกันที่ Bicester Outlet Village ในเมือง Banbury

เชื่อว่าหลายคนรู้จัก outlet แห่งนี้ดีกันอยู่แล้ว เพราะสินค้ามีสารพัดแบรนด์ให้เลือกช้อปทิวยูดร็อป สนนราคาและสินค้าก็ตามแต่ฤดูกาล บางครั้งมาที่นี่ก็ได้ของสวยๆ ดีๆ ในราคาย่อมกลับไปเยอะ แต่บางครั้งมาไม่ถูกจังหวะ ก็แทบไม่ได้อะไร แอบกระซิบว่าใครที่เป็นแฟนสินค้าอิงลิช วินเทจ กุ๊กกิ๊ก อย่าง Cath Kidston ที่นี่ก็มีร้านลดราคาของแบรนด์นี้เช่นกัน

หลังจากช้อปจนร้านปิด แล้วเราก็แวะทานอาหารไทยกันที่ในเอาท์เล็ตนี่แหละค่ะ ร้าน Busaba Eathai มีหลายเมนูง่ายๆ ที่เราคุ้นเคย อย่างผัดไทย ส้มตำ ฯลฯ พอให้หายคิดถึงอาหารไทย สาขานี้มีพนักงานคนไทย 1 คนค่ะ ซึ่งพี่เค้าก็คอยแนะนำว่าน่าจะสั่งอะไร อย่างไร

อิ่มสบายท้องแล้ว เราก็ขับรถกลับที่พัก พักผ่อนนอนเอาแรง เตรียมลุยชนบทอังกฤษกันต่อในวันรุ่งขึ้น

ราตรีสวัสดิ์ :)